วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธสิริสัตตราช แสงธรรมบนเขื่อนรัชชประภา

ดวงอาทิตย์ยามเย็นส่องผ่านหมู่เมฆเหนืออ่างเก็บ น้ำและผืนป่าของเขื่อนรัชชประภา(เขื่อนเชี่ยวหลาน) สีจากแสงกระจายบนขอบเมฆเป็นสีทองส่องทะลุเป็นลำแสงกว้าง ส่องลงมาจากฟ้าสูงกระทบองค์พระพุทธรูป "พระพุทธสิริสัตตราช" หรือ"หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์" ซึ่งประดิษฐานตรงจุดที่สูงที่สุดบนเขื่อนรัชชประภา องค์พระสีทองยิ่งเปล่งสีด้วยแสงสะท้องเปล่งปลั่งยิ่งขึ้น สีทองอร่ามงดงามมองเห็นได้จากไกล ๆ ผู้เยือนเขื่อนแห่งนี้สามารถสัมผัสความงดงามขององค์พระที่เต็มเปี่ยมด้วย ความสงบและความเมตตาขององค์พระได้เป็นอย่างดี
การได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป "พระพุทธสิริสัตตราช" หรือ"หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์" ถือได้ว่าเป็นความโชคดี เป็นบุญของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกวาระหนึ่งในรอบช่วงเวลาที่ผ่านมาเพราะการได้รับโอกาสจากพระพุทธรูปที่มี ความศักดิ์สิทธิ์เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระคู่บุญบารมีของพระครูภาวนากิจ โกศล(หลวงปู่สอ พันธุโล) วัดป่าหนองแสง ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มาประดิษฐานนั้นเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นโชคดีเป็นอย่างยิ่ง การสร้าง "พระพุทธสิริสัตตราช" ตามเจตนารมย์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดยสรุปก็เพื่อความสงบสุข ร่มเย็นของแผ่นดินและสรรพสัตว์ทั้งปวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุก ๆ พระองค์ พระพุทธรูปซึ่งจำลองมาจากองค์จริงมาประดิษฐานไว้ประจำเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ประชาชนชาวพุทธทั้งใกล้ไกลได้มีโอกาสไปสักการะเพื่อขอพร เพื่อให้ได้รับความสุขและคุ้มครองเป็นขวัญเป็นกำลังใจให้เกิดแก่ทุก ๆ คน
เมื่อวันที่ ๑๙ ถึง ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมา เขื่อนรัชชประภาโดยผู้อำนวยการเขื่อนนายพงษ์ศักดิ์ ผลพฤกษ์ และผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตลอดจนพุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันจัดพิธีสมโภช พุทธาภิเษกและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธสิริสัตตราช(หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) ขึ้น ณ บริเวณศาลาประภาภิรมย์ เขื่อนรัชชประภา อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมีพิธีบวช “เนกขัมม” โดยพระครูสุดธรรมวาที (หลวงพ่อมหาประสิทธิ์ สิริธรรมโม) รับฟังโอวาทธรรมจากหลวงปู่ประสาร วัดป่าหนองไคร้ จังหวัดยโสธร และมีกิจกรรมทางศานาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลา ๓ วัน พิธีกรรมทางศาสนาที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งผลบุญ ให้แก่ทุก ๆ คน เป็นพิธีที่เต็มไปด้วยความเลื่อมไสความศรัทธาจากผู้ร่วมงานทุกคน ในวันแรกที่ทำพิธีได้มีผู้สังเกตเห็นพระอาทิตย์ทรงกรดปรากฏบนท้องฟ้า ทำให้ผู้ร่วมพิธีรู้สึกรับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และเป็นความอัศจรรย์อย่าง หนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างพิธี
“พระพุทธสิริสัตตราช" จำลองที่นำมาประดิษฐานครั้งนี้มีขนาด ๕๙ นิ้ว เป็นองค์พระที่จำลองขึ้นมาจากองค์จริงซึ่งมีลักษณะพระพุทธรูปปางนาคปรก ขนาดฐานพระประมาณ ๑๐ นิ้ว สูงประมาณ ๑๕ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๑๐ กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปหล่อแบบโบราณเนื้อสัมฤทธิ์ มีอายุประมาณ ๘๐๐ ปี ซึ่งเป็นพระที่อยู่กับหลวงปู่สอ พันธุโล วัดหนองแสง จังหวัดยโสธร
ลักษณะพระพุทธรูปหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์องค์นี้มีลักษณะที่แปลกกว่าองค์พระอื่น ๆ กล่าวคือโดยทั่วไปพระพุทธรูปจะมีนาคเพียงตัวเดียวแต่มีหัวเจ็ดหัวแผ่ปกคลุม อยู่เหนือองค์พระ แต่องค์พระ“พระพุทธสิริสัตตราช" นี้มีพญางูใหญ่ ๗ ตัว ๗ หัว ขดตัวเป็นพระแท่นให้กับองค์พระ ส่วนหัวของงูทั้งเจ็ดยกขึ้นเรียงกันแผ่ปกคลุมอยู่อยู่เหนือเศียรพระ ลักษณะภาพรวมทางด้านศิลปะมีลักษณะคล้ายศิลปะสมัยเชียงแสนหรือทางเวียงจันทน์
สำหรับประวัติรายละเอียดที่เกี่ยวกับพระครูภาวนากิจโกศล(หลวงปู่สอ พันธุโล) ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์พระ “พระพุทธสิริสัตตราช” หรือ “พระพุทธรูปหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์” (ในหนังสือเขียนว่าพระพุทธรูปคู่บารมีหลวงปู่สอ พันธุโล) มีตีพิมพ์ในหนังสือชื่อว่า ประวัติพระพุทธสิริสัตตราช (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) พระครูภาวนากิจโกศล (​หลวงปู่สอ พันธุโล) เรียบเรียงโดยพระครูสิทธิวราคม (นิคมวโร) เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พิมพ์ที่ หจก.ขอนแก่นการพิมพ์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ที่สนใจศึกษาอ่านรายละเอียดสามารถอ่านได้จากหนังสือเล่มดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: